กลไกในการใช้ภาษานั้นต้องอาศัยตรรกะจำนวนมากในการใช้งาน สมองต้องประมวลผลตรรกะต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อกลั่นกรองคำพูดที่จะหลุดออกมาจากปาก หรือสั่งการให้มือเขียนสิ่งใดออกมา ภาษาที่สละสลวยก็ยิ่งต้องใช้ตรรกะที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทำให้ยากต่อการประดิษฐ์
สมองของมนุษย์ถือเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงยิ่ง เซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ราว 1 แสนล้านเซลล์ ทำการประมวลผลสิ่งที่ซับซ้อนได้อย่างดี และทำให้มนุษย์มีการพัฒนาเครื่องใช้ไม้สอยพื้นฐาน จนกระทั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถจำลองการทำงานของสมองได้ใกล้เคียง แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับสมองที่เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นขึ้นมา
การจำลองการทำงานของสมองเป็นสิ่งที่ท้าทายวิศวกรคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย เพราะหากสร้างคอมพิวเตอร์ที่ทำงานซับซ้อนและละเอียดได้แบบเดียวกับสมองขึ้นมาได้ ก็หมายความว่าเทคโนโลยีการผลิตคอมพิวเตอร์จะต้องสูงล้ำยิ่ง และสูงกว่าระดับปัจจุบันหลายเท่า
เพียงแค่การผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถ "เถียง" กับมนุษย์ได้ ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่กันแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ ที่มีชื่อเล่นว่า "บิ๊กบลู" นั้น สามารถประดิษฐ์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่มีความซับซ้อนบรรจุลงในเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในตระกูล "วัตสัน" ที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดของบริษัท ทำให้ "วัตสัน" สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้ โดยผ่านการประมวลผลข้อมูล และกลั่นกรองผ่านตรรกะที่เหมาะสมเพื่อเลือกเฟ้นคำพูดที่จะใช้โต้ตอบได้ดีที่สุด
วัตสันใช้การประมวลข้อมูลที่ได้รับมาที่เรียกว่า "อินพุท" เพื่อเข้าไปค้นหาในคลังข้อมูลขนาดมหาศาลของเว็บไซต์วิกิพีเดีย เพื่อหาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอินพุทที่ได้รับมา แล้วพิจารณาตรรกะที่เป็นเชิงบวกและลบต่ออินพุทนั้น ก่อนที่จะแสดงผลการประมวลผลข้อมูลที่ไปค้นมานั้นให้แก่ผู้ที่ป้อนคำสั่งเข้าไป เป็นการโต้ตอบขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ผ่านซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้
ไอบีเอ็มสาธิตการทำงานของฟังก์ชันการโต้ตอบของวัตสัน ที่ใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที ในการค้นหาข้อมูลเชิงบวกและลบต่อประเด็นอินพุท และนำเสนอผ่านหน้าจอออกมาเป็นผลเชิงบวกและลบเหล่านั้น
อย่างไรก็ดี วัตสันยังไม่สามารถประมวลตรรกะที่เป็นการฟันธงว่าข้อมูลที่ค้นมาได้นั้นข้อมูลใดเหมาะสมกับคำถามที่มีการอินพุทเข้าไปในเครื่องมากที่สุด
แต่นี่ก็ถือเป็นการพัฒนาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อย่างก้าวกระโดดที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถ "เถียง" กับมนุษย์ได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่จริงในโลกไซเบอร์
ลองคิดดูเล่นๆ ว่า ถ้าคอมพิวเตอร์เกิด "ดุ" มนุษย์ขึ้นมาได้ล่ะ โลกนี้จะเป็นเช่นใด
ที่มาข่าว คมชัดลึก